วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

"ภูมิภาคนิยม - ชนชั้นนิยม" ความรุนแรงทางการเมืองในสังคมไทย
โดย : วรภัทร วีรพัฒนคุปต์
เมื่อ : 7/01/2008 12:57 PM เป็น ไปตามที่คาดหมายสำหรับผลการเลือกตั้ง ที่แทบจะไม่ต้องลุ้นผลที่จะออกมา เพราะเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ลงประชาติรางรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งครั้งนั้นหากหลายคนยังจำกันได้ ภาคอีสานกับภาคเหนือเป็นพื้นที่สีแดงจนแทบจะใช้คำว่ายกภูมิภาคก็เห็นจะไม่ ผิด และมีจุดที่น่าสนใจตรงที่ว่า พื้นที่ภาคใต้แม้จะเป็นสีเขียวทั้งหมด แต่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้กลับเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนบัตรกาโหวตโนสูงที่ สุดในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด

และก็เป็นไปตามคาด พรรคพลังประชาชน กวาดภาคอีสานกับภาคเหนือจนแทบเรียบ และน่าสนใจว่าจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นถิ่นของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นแชมป์มาหลายสมัยแล้ว แม้จะเปลี่ยนแบรนด์กี่ครั้งก็ไม่เคยทำให้คะแนนเสียงหด แต่ครั้งก็นี้ก็ยังถูกพลังประชาชนกวาดยกจังหวัด ส่วน ภาคกลางก็ถัวๆ กันไป ภาคใต้ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าพรรคอะไรจะเป็นแชมป์ ก็ได้เป็นแชมป์ตามนั้น แต่น่าสังเกตว่า ในจังหวัดยะลากับนราธิวาสซึ่งเป็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับถูกคนของกลุ่มวาดะห์เจาะไข่แดงกลับมาได้

แน่นอนว่าผลออกมาเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมต้องตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาจากท่าผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่ออกมาทำตัวเป็นกูรู้ (Guru) และกูไม่รู้

และเป็นไปตามคาด เสียงวิจารณ์จากท่านกูรู้และกูไม่รู้ ยอ่มต้องพูดถึงเรื่องที่ต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ภาคอีสานไปต่างๆ ว่าเป็นภาคที่คนไม่มีความรู้บ้าง โดนซื้อเสียงบ้าง โดนขั้วอำนาจเก่าจูงจมูกบ้าง

และยังวิจารณ์ไปถึงขนาดที่ว่า ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงจะเลือกพรรคอะไร คนรากหญ้าไม่มีความรู้กับนักวิชาการขายตัวจะเลือกพรรคอะไร

และแน่นอนว่าคนที่อยู่ฝ่ายกองเชียร์รัฐประหาร ย่อมต้องไม่ปลื้ม และต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์คนที่เชียร์ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็ไม่พ้นเรื่องว่าไร้การศึกษา เป็นกรรมกร เป็นชนชั้นล่างอีกตามเคย

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยในเวลานี้ เป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "ภูมิภาคนิยม (Regional Centeredness)" กับ "ชนชั้นนิยม (Class - Centeredness)" ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ "อัตนิยม(Egocentrism)" ซึ่งหนังสือ "อาวุธมีชีวิต? แนวคิดเชิงวิพาก์ว่าด้วยความรุนแรง" ของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้อธิบายว่าอัตนิยมเป็นความสามารถในตัวของมนุษย์ในการแยกตนเองและกลุ่มของตนเองออกจากผุ้อื่นและกลุ่มอื่น ในทางจิตวิทยาเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า "Egocentric Perceiving" หรือการรับรู้โดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง

อัตนิยมนี้เอง เป็นสิ่งที่ได้สร้างกำแพงขึ้นมากั้นระหว่างความแตกต่าง สร้างความเป็นเขาความเป็นเราให้เด่นชัดยิ่งขึ้นจากการที่เรามองความเป็นตัว เราเองเป็นศูนย์กลาง และทำให้เราไม่สามารถเข้าใจผู้อื่นจากแง่มุมของเขาได้ โดยอาศัยองค์ประกอบที่เรียกว่า "การแยกประเภทเทียม (Pseudospeciation)" เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ให้เราสามารถกดฝ่ายที่แตกต่างจากเราลงไปจากระดับความเป็นมนุษย์ประเภทเดียวกับเราได้ง่ายขึ้น

และนี่เองคือพื้นฐานของความรุนแรงของมนุษยชาติ มายาการแห่งอัตลักษณ์นอกจากสามารถเป็นกำแพงปิดกั้นความเข้าใจในความแตกต่าง ซึ่งกันและกันได้แล้ว มันยังเพิ่มความสามารถให้มนุษย์สรรหาเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อมาอธิบายความชอบธรรมของความรุนแรงที่กระทำต่อกันได้ด้วย

ซึ่งในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยนั้น วิธีคิดภายใต้มายาการแห่งอัตลักษณ์นี้เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกโดยที่เรายึดตัวตนของเราเป็นที่ตั้ง ปิดตัวเองจากการรับรู้เข้าใจผู้อื่น ความสามารถในการมองความขัดแย้งที่มีตัวเราเป็นที่ตั้ง จะทำให้เราสามารถหาข้ออ้างหาเหตุผลมาอธิบายความผิดของฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนเหตุผลที่รองรับความชอบธรรมในการกระทำรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามได้มากมาย แต่ในขณะเดียวกันความสามารถในการพิจารณาเหตุและผล ประเมินความผิดพลาดที่มาจากตนเองก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน

เหมือนเช่นที่คณะผู้ก่อการรัฐประหารและผู้สนับสนุนไม่เคยพิจารณาตนเองว่า สิ่งใดบ้างที่ตนทำแล้วประชาชนเอือมระอา ไม่ว่าจะเป็นการที่บริหารประเทศโดยไม่ฟังเสียงประชาชน การทำตัวเป็นศัตรูกับประชาชนทุกคนที่คิดเห็นต่างจากตน การบริหารประเทศที่มุ่งแต่หาความผิดของขั้วอำนาจเก่า (และไม่มีหลักฐานที่ชัดพอให้สังคมยอมรับร่วมกันได้ด้วย) แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ซ้ำยังไปเบียดเบียนชาวบ้านตาดำๆ อีก ดังเช่นการนำกำลังทหารไปกดดัน ไปคุกคามสิทธิเสรีภาพของชาวบ้านในภาคอีสานและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จนกระทั่งสุดท้ายเมื่อแพ้ภัยตัวเองด้วยผลการประชามติรัฐธรรมนูญที่ชนะแค่เฉียดฉิว กับผลการเลือกตั้งที่แพ้พรรคการเมืองตัวแทนอำนาจเก่าอย่างราบคาบ ท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้กลับยังมองไม่เห็นความผิดพลาดที่ตนเอง

ผมเขียนบทความนี้เพื่ออยากเตือนสติคนไทย โดยเฉพาะชนชั้นกลาง รวมถึงผู้ที่รู้สึกว่าตนเองเป็นชนชั้นกลางทั้งหลาย อย่าได้หลงมัวเมากับคำโฆษณาโง่ๆ ของผู้มีอำนาจที่ต้องการให้พวกเราแตกแยกกันอีกเลย

อย่าหลงมัวเมากับความเป็นชนชั้นกลาง ความเป็นคนเมืองของตนจนปิดกั้นหัวใจไม่รับฟังความรู้สึกจากหัวใจของผู้อื่นบ้าง โดยเฉพาะกับประชาชนผู้ใช้สัญชาติร่วมกัน เพียงแต่ต่างภูมิภาค ต่างฐานะ ต่างความเชื่อ

เราไม่มีวันไปถึงความเป็นประชาธิปไตยที่เราใฝ่ฝันหาได้ หากเรายังไม่เปิดใจยอมรับความแตกต่าง เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว มันคือสังคมที่รวมความแตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ร่มเงาเดียว กันได้โดยสันติ ไม่เบียดขับ แบ่งแยกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันด้วยมายาการโง่ๆ ทั้งหลายที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นมาให้มีความสำคัญเหนือกว่าความเป็นมนุษย์ ประเภทเดียวกันในทางชีววิทยาที่แทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย

ประชาธิปไตยที่แท้จริงมันต่างจากระบอบเผด็จการก็ตรงนี้เอง....

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์
เลขาธิการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (ศยป)





http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=618

ไม่มีความคิดเห็น: